ประวัติบิดาทหารเรือไทย

Release Date : 03-01-2017 00:00:00
ประวัติบิดาทหารเรือไทย

ระประสูติกาล

     พระประสูติกาล พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ (ต้นราชสกุล อาภากร) ทรงเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ ๕ นับลำดับ ราชสกุลวงศ์เป็นพระองค์ที่ ๒๘ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์" ประสูติใน พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ เวลา ๑๔.๕๗ และทรงเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พระองค์ทรงมีพระกนิษฐา และพระอนุชา ร่วมพระมารดา ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และพระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์

 

ทรงศึกษา

      การศึกษา เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาชั้นแรก ในพระบรมมหาราชวัง มีพระยาอิศรพันธ์โสภร (พูน อิศรางกูร) เป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษา ภาษาอังกฤษกับ Mr.Morant ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ และได้ทรงเข้าเป็นนักเรียน ในโรงเรียนหลวง ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่จนถึงทรงโสกันต์

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งในขณะนั้น ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ โดยมีเจ้าพระยา พระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์ เป็นสมเด็จพระมนตรีพจนกิจ เป็นพระอภิบาล ได้เสด็จออกจากกรุงเทพฯ โดย ร.ล.มกุฎราชกุมาร (ลำที่ ๑ ) เมื่อ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ไปยังสิงคโปร์ ต่อจากนั้น ได้ทรงโดยสารเรือเมล์ ชื่อ "ออเดรเบิด" ไปถึงเมืองตูรินในอิตาลี เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม แล้วเสด็จโดยทางรถไฟ ไปยัง กรุงปารีส และลอนดอนตามลำดับ ในขั้นแรก เสด็จในกรมฯ ได้เสด็จประทับ ร่วมกับ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าฯ ที่ "ไบรตัน" และ "แอสคอต" เพื่อทรงศึกษาภาษา และวิชาเบื้องต้น เสด็จในกรมฯ ได้เคยตามเสด็จ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าฯ ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถ วิคตอเรีย ที่พระราชวังวินด์เซอร์ ตลอดจนตามเสด็จ ไปทัศนศึกษาทั้งในอังกฤษ และประเทศในยุโรป จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ เสด็จในกรมฯ จึงเสด็จไป เข้าโรงเรียนส่วนบุคคล สำหรับกวดวิชา เพื่อเตรียมเข้าศึกษา ในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ต่อไป โรงเรียนที่ทรงไปกวดวิชานี้มีชื่อว่า The Seines ตั้งอยู่แขวงกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของกรุงลอนดอน มีนาย Littlejohns เป็นครูใหญ่ ผลการศึกษานี้ พระอภิบาล ได้ทรงกราบบังคมทูลรายงานว่า

     "... ความรู้ภาษาอังกฤษดีขึ้นตามธรรมดา แต่วิชากระบวนทหารเรือชั้นต้น ก็วิ่งขึ้นเร็วตามสมควร แต่การเล่นแข็งแรง เช่น ฟุตบอล เป็นต้น นับว่าเป็นชั้นยอดของโรงเรียน เกือบว่าไม่มีใครอาจเข้าเทียบเทียม..."

ทรงศึกษาในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ

 

     เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงกวดวิชาแล้ว จึงเข้าศึกษาต่อใน โรงเรียนนายเรืออังกฤษ ในราวปี พ.ศ.๒๔๓๙ การศึกษา ในโรงเรียนนายเรือ ของอังกฤษนั้น จะต้องฝึกหัดศึกษา หลับนอน อยู่ในเรือ ประมาณ ๓-๔ เทอม เมื่อสอบความรู้ได้แล้ว จะมีฐานะเป็น นักเรียนทำการนายเรือ (Midshipman) และไปฝึกในเรือรบ ประจำกองเรือต่างๆ อีกประมาณ ๑-๒ ปี และก็จะทำการสอบ เพื่อเป็นนายเรือตรี ต่อจากนั้น ศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก เท่ากับนายทหารรุ่นเดียวกัน เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงเป็นนักเรียนทำการนายเรือ ในราชนาวีอังกฤษ ทรงเล่าว่า "...เมื่อเป็นนักเรียนทำการนายเรือ ในราชนาวีอังกฤษ ได้มีโอกาสขึ้นทำการปราบจลาจล ที่เกาะครีท ที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นเวลาราว ๓ เดือน ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย หนาวก็หนาว ในสนามรบ ต้องนอนกับศพที่ตายใหม่ๆ และบางคราว ซ้ำยังอดอาหาร ต้องจับหอยทาก มาเสวยกับหัวหอม ศพที่ถูกยิงที่ท้องนับว่าเหม็นร้ายกาจมาก ถึงจะเป็นศพตายใหม่ๆ ก็ตาม..." รวมเวลาที่เสด็จในกรมฯ ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ๖ ปีเศษ


  ทรงเครื่องแบบนักเรียนทำการนายเรือ
เมื่อมาเฝ้าสมเด็จพระชนกนาถ ที่เมือง เบงกอล พ.ศ.๒๔๔๐

ในขณะที่เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นนักเรียนนายเรือ อยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น ประจวบกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสยุโรป เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ เสด็จในกรมฯ ทรงขอลาทางโรงเรียน มารับเสด็จ สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยเข้าร่วมกระบวนเสด็จ ที่เกาะลังกา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่ง นักเรียนนายเรือ ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ภายใต้การบังคับบัญชา ของผู้บัญชาการเรือ และได้ทรงถือท้าย เรือพระที่นั่งมหาจักรี ด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงแสดงความสามารถ ให้ปรากฏแก่พระเนตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ นอกจากนั้น ในลายพระหัตถเลขาของ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ ที่พระราชทาน สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ได้กล่าวถึง เสด็จในกรมฯ ความว่า

"...ในเวลาที่เขียนหนังสืออยู่นี้ อาภากร กับหลวงสุนทรมาถึง อาภากรโตขึ้นมาก และขาวขึ้น เขาแต่งตัวมิดชิพแมน (Midshipman) มาพร้อมแล้ว ฉันได้มอบให ้อยู่ในบังคับ กัปตัน เป็นสิทธิขาด เว้นแต่วันนี้ เขาอนุญาตให้มากินข้าว กับฉันวันหนึ่ง..." เมื่อเสด็จในกรมฯ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ ในเรือพระที่นั่งมหาจักรีแล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงมีพระราชปรารภ เกี่ยวกับเสด็จในกรมฯ ว่า "...ชายอาภากรนั้น อัธยาศัยเป็นคนซื่อมาแต่เดิม เป็นผู้ที่สมควรแก่วิชาที่เรียนอยู่แล้ว ไม่เป็นคนที่มีอัธยาศัย ที่จะใช้ฝีปากได้ ในกิจการพลเรือน แต่ถ้าเป็นการในหน้าที่อันเดียว ซึ่งชำนาญ คงจะมั่นคงในทางนั้น และตรงไปตรงมา การที่ได้พบคราวนี้ นับว่าอัธยาศัยดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก" เมื่อพระองค์ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมชนกนาถ ไปในเรือพระที่นั่ง จนถึงประเทศอังกฤษแล้ว จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ต่อไป หลังจากทรงสำเร็จ การศึกษาที่โรงเรียนนายอังกฤษแล้ว ก็เสด็จกลับประเทศไทย โดยทางเรือ ดังปรากฏรายละเอียด ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๗ ร.ศ.๑๑๙ ดังนี้

     "...ได้เสด็จลงเรือเมล์เยอรมัน ชื่อ "เบเยน" ที่เมืองเยนัว เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ วันที่ ๗ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ถึงเมืองสิงคโปร์ หลวงภักดีบรมนารถ และหลวงสุนทรโกษา ได้ออกรับเสด็จ ได้เสด็จพักอยู่ที่สิงคโปร์ คืนหนึ่ง รุ่งขึ้นวันที่ ๘ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ได้เสด็จลงเรือเมล์ชื่อ "สิงคโปร์" ออกจากสิงคโปร์ ต่อมาวันที่ ๑๑ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ เวลาทุ่มเศษถึงปากน้ำ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา และพระยาสีหราชเดโชไชย หลวงปฏิยัตินาวายุกต์ นำเรือสุริยะมณฑล ออกไปคอยรับเสด็จอยู่ ณ ที่นั้นแล้วทรงเรือไฟ มาขึ้นที่เมืองสมุทรปราการ ทางรถไฟจากที่นั่น มาถึงสเตชั่นหัวลำพองเวลายามเศษ แล้วเสด็จทรงรถต่อไป พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อเสด็จไปรับ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ที่สเตชั่นรถไฟ เสด็จถึงแล้ว ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในรถพระที่นั่ง ที่ถนนเจริญกรุง แล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง ครั้นรุ่งขึ้น วันที่ ๑๒ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ เวลาสองทุ่มเศษ โปรดเกล้าฯ ให้มีการเลี้ยง พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทาน เป็นเกียรติแก่ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า อาภากรเกียรติวงศ์ ที่พลับพลาสวนดุสิตด้วย..."